Monthly Archives: February 2018

การได้ยิน 0

  เราสามารถได้ยินเสียงที่แตกต่างกัน หลายพันเสียงตั้งแต่เสียงหวานของไวโอลิน จนถึงเสียง
อึกทึกครึกโครมของรถจักรยานยนต์ เพราะเรามีอวัยวะรับเสียงที่สำคัญคือ “หู” ซึ่งเป็นอวัยวะ
รับสัมผัสที่ทำหน้าที่ทั้งการได้ยินและการทรงตัว ส่วนของหูเกือบทั้งหมดจะซ่อนอยู่ภายใน
กะโหลกศีรษะโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ดังภาพ

หูชั้นนอก ประกอบด้วย ใบหูและรูหู

โครงสร้างของใบหูเป็นกระดูกอ่อนจะทำหน้าที่รับและรวบรวมคลื่นเสียงให้ผ่านช่องหู
ชั้นนอก ภายในรูหูจะมีต่อมสร้างไขมันมาเคลือบไว้ ทำให้ผนังรูหูไม่แห้งและป้องกันอันตราย
ไม่ให้แมลงและฝุ่นละอองเข้าสู่ภายใน ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเมื่อมีจำนวน
มากจะสะสมกลายเป็นขี้หูซึ่งจะหลุดออกมาเอง จึงไม่ควรแคะหูบ่อยๆ เพราะเป็นการกระตุ้น
ให้ต่อมสร้างขี้หูเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเยื่อแก้วหูได้ ถ้าแคะหูลึกไปถึงเยื่อแก้วหูทำให้
เยื่อแก้วหูขาดและอาจกลายเป็นคนหูหนวกได้ ส่วนเยื่อแก้วหู (eardrum หรือ tympanic
membrane)เป็นรอยต่อระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลางลักษณะเป็นเยื่อบางๆ กั้นอยู่ สามารถ
สั่นได้เมื่อได้รับคลื่นเสียงเหมือนกับหนังหน้ากลองเมื่อถูกตีและส่งแรงสั่นสะเทือนเข้าไปในหู
ชั้นกลาง

หูชั้นกลาง

มีลักษณะเป็นโพรง ติดต่อกับโพรงจมูกและมีท่อติดต่อกับคอหอยเรียกว่า ท่อยูสเตเชียน
(eustachian tube หรือ auditory tube) ปกติท่อนี้จะปิด แต่ขณะเคี้ยวหรือกลืนอาหาร
ท่อนี้จะขยับเปิดเพื่อปรับความดัน 2 ด้านของเยื่อแก้วหูให้เท่ากัน ความแตกต่างระหว่าง
ความดันอากาศภายนอกและภายในหูชั้นกลางอาจทำให้เยื่อแก้วหูถูกดันให้โป่งออกหรือ
ถูกดันเข้า ทำให้การสั่นและการนำเสียงของเยื่อแก้วหูลดลง หากมีการอุดตันของท่อนี้จะทำให้
หูอื้อหรือปวดหู ร่างกายจึงมีการปรับความดันในช่องหูชั้นกลางโดยผ่านแรงดันอากาศบางส่วน
ไปทางท่อยูสเตเชียน ซึ่งถ้ามีเชื้อโรคในคอหรือจมูกจะมีผลให้เชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางทางท่อนี้
และทำให้เกิดการอักเสบในหูได้ง่ายขึ้น

โครงสร้างของอวัยวะในหูชั้นกลางที่สำคัญมีดังนี้

1. กระดูกภายในหูชั้นกลาง (auditory ossicles)  ประกอบด้วย

กระดูกฆ้อน (malleus) กระดูกทั่ง (incus) กระดูกโกลน (stapes อ่านว่า สเตปีส)
กระดูกทั้ง 3 ชิ้น จะยึดติดกันเป็นระบบคานดีดคานงัด (lever system) เพื่อนำคลื่นเสียง
ที่มากระทบเข้าไปสู่หูชั้นใน

2. กล้ามเนื้อของหูชั้นกลาง (middle ear muscles) มี 2 มัด คือ

2.1 กล้ามเนื้อเทนเซอร์ทิมพาไน (tensor tympani muscle) เลี้ยงด้วยเส้นประสาท
สมองคู่ที่ 5 มีหน้าที่ทำให้แก้วหูตึงโดยถูกดึงเข้าข้างใน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความถี่ให้กับ
เสียงสะท้อน (resonant frequency) ของระบบการนำเสียง ทำให้รับเสียงที่มีความถี่ต่ำ
ได้ดีขึ้น

2.2 กล้ามเนื้อสเตปีเดียส (stapedius muscle) เลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7
ยึดเกาะที่ด้านหลังของกระดูกโกลน (stapes ) มีหน้าที่ดึงกระดูกโกลนมาทางด้านหลัง
เพื่อช่วยป้องกันหูชั้นในจากเสียงที่ดังมากๆจะเห็นได้ว่าการทำงานของกล้ามเนื้อ
ทั้งสองมัดจะช่วยปรับและป้องกันการกระเทือนต่อหูชั้นกลางและหูชั้นในที่มีสาเหตุจากเสียง
ที่ดังมากๆ โดยเฉพาะเสียงที่มากระทบเยื่อแก้วหูซึ่งมีความดังเกิน 85 เดซิเบล

3. เส้นประสาทที่ผ่านหูชั้นกลางได้แก่ แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (chorda
tympani nerve) แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (glossopharyngeal nerve)
และแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (trigeminal nerve)

เนื่องจากโครงสร้างของหูชั้นกลางที่ติดต่อกับหูชั้นนอกทางเยื่อแก้วหู และติดต่อกับคอ
ทางท่อยูสเตเชี่ยน ติดต่อกับหูชั้นในทางหน้าต่างรูปไข่ (oval window) และหน้าต่างรูปกลม
(round window) โดยทั้งช่องหน้าต่างรูปไข่และรูปกลมจะมีเยื่อบางๆ กั้นอยู่ (oval window
membraneและ round window membrane ) ช่วยให้หูชั้นกลางสามารถทำหน้าที่สำคัญ
2 อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การขยายเสียง (amplifying sound) และการป้องกัน
เสียงดัง (ear protection)

หูชั้นใน

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แลบบิรินท์ (labyrinth) ฝังอยู่ในกระดูกเทมโพราล (temporal
bone) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง (cochlea portion) ประกอบด้วยท่อกลมขดซ้อนกัน
เป็นรูปก้นหอย 2 รอบครึ่ง สูงประมาณ 5 มิลลิเมตร กว้าง 9 มิลลิเมตร ภายในของท่อกลม
แบ่งออกเป็น 3 ช่อง สองช่องใหญ่เรียกว่า สกาลา เวสติบูไล (scala vestibuli) และสกาลา
ทิมพาไน (scala tympani) ซึ่งจะขนาบช่องเล็กตรงกลางเอาไว้โดยตลอดตั้งแต่ฐานจนถึง
ยอดของก้นหอย โดยบริเวณที่พบกันเรียกว่า เฮลิโคทรีม่า (helicotrema) ภายในสกาลา
ทั้งสองนี้จะมีของเหลวบรรจุอยู่ เรียกว่า เพอริลิมฟ์ (perilymphatic fluid) สกาลา ทิมพาไน
(scala tympani) จะติดต่อกับหูชั้นกลางทางหน้าต่างรูปกลม (round window) และทางเปิด
ของสกาลา เวลติบูไล (scala vestibuli) จะติดต่อกับหูชั้นกลางทางหน้าต่างรูปไข่ (oval
window)

ช่องตรงกลางที่ขนาบด้วย สกาลา เวสติบูไล (scala vestibuli) และสกาลา ทิมพาไน
(scala tympani) เรียกว่า สกาลา มีเดีย (scala media) หรือ ท่อคอเคลีย (cochlea duct)
ผนังที่กั้นท่อคอเคลีย (cochlea duct) จากสกาลา เวสติบูไล (scala vestibuli)  เรียกว่า
เยื่อบุเวสติบูล่า (vestibular membrane) หรือ เยื่อบุไรสเนอร์ (Reissner’s membrane)
ส่วนผนังที่กั้นจากสกาลา ทิมพาไน (scala tympani) เรียกว่าเยื่อบุฐาน (basilar membrane)
ผนังด้านในของสกาลา มีเดีย (scala media) เป็นบริเวณที่มีีเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก
เรียกว่า สไตรอา วาสคิวลาริส (stria vascularis) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตของเหลวเรียกว่า
เอ็นโดลิมฟ์ (endolymphatic fluid) ของเหลวที่ผลิตออกมาจะขังรวมอยู่ใน สกาลา มีเดีย
(scala media)นอกจากนี้ภายในสกาลา มีเดีย (scala media) ยังมีอวัยวะสำหรับรับเสียง
เรียกว่า อวัยวะคอร์ติ (organ of Corti) ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้

1. เซลล์ขน (hair cells) เป็นตัวรับการกระตุ้นของเสียง ซึ่งมีอยู่สองแถว คือ
แถวนอก (outer hair cells) มีอยู่ราวๆ 12,000-20,000 เซลล์ ส่วนแถวใน (inner hair cells)
มีอยู่ราว 3,600 เซลล์ นอกจากนี้ยังมีเซลล์ประกอบอยู่ข้างเคียงอีกเล็กน้อยซึ่งไม่มีความสำคัญ
นัก

2. แผ่นเยื่อบางๆมีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น (gelatinous substance) เรียกว่า เยื่อบุ
เทคโทเรียล (tectorial membrane) ซึ่งจะขยับขึ้นลงในขณะที่มีเสียงกระตุ้นหู และจะเป็น
ตัวกระตุ้นเซลล์ขนให้รู้สึกว่ามีเสียงมาสัมผัส

3. เส้นประสาทรับความรู้สึก  จากเซลล์ประสาทรวมตัวกันเป็นปมประสาทเรียกว่า
ปมประสาทสไปรัล (spiral ganglions) จากนั้นจะรวมเป็นเส้นประสาทใหญ่ เรียกว่า
เส้นประสาทอะคูสติก (acoustic nerve) หรือเส้นประสาทคอเคลีย (cochlear nerve)
ซึ่งจะรวมเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 วิ่งเข้าสู่สมอง ส่วนที่เกี่ยวกับการได้ยิน (auditory
cortex) บริเวณพูด้านขมับ (temporal lobe)

กระแสประสาทจากเซลล์ขนจะถูกส่งเข้าสู่ใยประสาทของเส้นประสาทคอเคลีย
(cochlear nerve) และเส้นประสาทสมองคู่ที่8 (auditory nerve) เพื่อซิแนปส์กับ
เซลล์์ประสาทตัวที่ 2 ที่คอเคลียนิวคลีอาย (cochlear nuclei) ของสมองส่วนพอนด์์
และเมดัลลาจากนั้นจะซิแนปส์กับเซลล์ประสาทตัวที่ 3 ที่ มีเดียลเจนนิคูเลทบอดี้
(medial geniculate body) และอินฟีเรียคอลลิคูลัส inferior colliculas )ในสมอง
ส่วนกลาง แล้วส่งไปยังศูนย์การได้ยิน (auditory cortex) ในสมองส่วนพูด้านขมับ
(temporal lobe)

จะเห็นได้ว่าอวัยวะรับเสียงของมนุษย์มีโครงสร้างและกลไกในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ช่วยให้มนุษย์สามารถรับฟังเสียงที่มีความดังในระดับต่างๆ และเป็นอันตรายน้อยที่สุดโดยผู้ที่
ศึกษาทดลองและค้นพบคำอธิบายที่ช่วยให้เข้าใจสรีรวิทยาของหูชั้นในได้ดีขึ้นและได้รับรางวัล
โนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค ศ.1961 คือ เกออร์ก วอน เบเคซี (Georg von
Bekesy) จากผลงานเกี่ยวกับการศึกษาวิธีถ่ายทอดพลังงานเสียงภายในคอเคลีย (cochlea)
ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/3_3.htm

การเกิดเสียง 0

เสียง เริ่มเกิดขึ้นเมื่อวัตถุหรือแหล่งกำเนิดเสียงมีการสั่นสะเทือนส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของโมเลกุลของอากาศที่อยู่โดยรอบ กล่าวคือโมเลกกุลของอากาศเหล่านี้จะเคลื่อนที่จากตำแหน่งเดิมไปชนกับโมเลกุลที่อยู่ถัดไป ก่อให้เกิดการถ่ายโอนโมเมนตัมจากโมเลกุลที่มีการเคลื่อนที่ให้กับโมเลกุลที่อยู่ในสภาวะปกติ จากนั้นโมเลกุลที่ชนกันนี้จะแยกออกจากกันโดยโมเลกุลที่เคลื่อนที่มาจะถูกดึงกลับไปยังตำแหน่งเดิมด้วยแรงปฏิกิริยาและโมเลกุลที่ได้รับการถ่ายโอนพลังงานจะเคลื่อนที่ไปชนกับโมเลกุลที่อยู่ถัดไป ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นสลับกันไปมาได้เมื่อสื่อกลาง (ในที่นี้คืออากาศ) มีคุณสมบัติของความยืดหยุ่น การเคลื่อนที่ของโมเลกุลอากาศนี้จึงเกิดเป็นคลื่นเสียง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://th.wikipedia.org

อันตรายจากเสียง 0

ในการดำรงชีวิตของมนุษย์เรานั้น ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตา หู ลิ้น จมูก และประสาทรับความรู้สึกสัมผัส มีความหมายอย่างยิ่งโดยเฉพาะ “หู” จัดว่ามีความสำคัญคู่เคียงกับตา ทั้งนี้เพราะหูเป็นอวัยวะรับฟังเสียงเพื่อการสื่อความหมาย สร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง

กลไกการได้ยิน… 
เสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนจากโมเลกุลในอากาศจะถูกป้องโดยใบค่อยข้างกลมรี สีขาว ขึงติดกับขอบของรูหูทำให้แก้วหูสั่นสะเทือนไปด้วย ติดกับแก้วหูถัดเข้าไป ประกอบด้วยกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น ซึ่งมีรูปร่างคล้าย ค้อน ทั่ง โกลนม้า จึงเรียกกระดูก 3 ชิ้นนี้ว่า กระดูกค้อน กระดูกทั่ง กระดูกโกลน ปลายด้านหนึ่งของกระดูกค้อนจะติดอยู่กับแก้วหูอย่างแน่นหนาอีกปลายจะต่อกับกระดูกทั่ง กระดูกทั่งจะต่อกับกระดูกโคลน และปลายอีกข้างหนึ่งของกระดูกโกลนวางอยู่บนหน้าต่างรูปไข่ ซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นของประสาทรับฟังเสียง มีลักษณะเป็นท่อกลมขดซ้อนกันมีรูปร่างคล้ายก้นหอย เรียกว่า คลอเคลีย ภายในคลอเคลียประกอบด้วยของเหลวและอวัยวะรับเสียงซึ่งมีลักษณะคล้ายขน เรียกว่า “เซลล์ขน” ดังนั้นเมื่อกระดูกโกลนขยับจะทำให้ของเหลวในคลอเคลียกระเพื่อมและเซลล์ขนจะโบกไปมาแล้วรับความรู้สึกส่งไปยังประสาทหูสู่สมองใหญ่เพื่อแปลความหมายต่อไป

  เสียงมีอันตรายอย่างไร
หูเรานั้นสามารถรับฟังเสียงได้ตั้งแต่ความถี่ 20 เฮิรตช์ ถึง 20,000 เฮิรตซ์ แต่ช่วงความถึ่ของเสียงที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันมากคือ ช่วงความถี่ของเสียงพูด หรือความถี่ 500-2,000 เฮิรตซ์ นอกจากนี้หูยังมีความสามารถและอดทนในการรับฟังเสียงในขอบเขตจำกัด หากเสียงเบาเกินไปก็จะไม่ได้ยิน แต่ถ้าเสียงดังเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อหูหรือมีอาการปวดหู สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมากๆ โดยเฉพาะผู้ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีเสียงดัง เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานปั้มโลหะ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดหรือการจราจรคับคั่ง ฯลฯ จะทำให้อวัยวะรับเสียง โดยเฉพาะเซลล์ขนและประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ทำให้ความสามารถในการได้ยินลดลงหรือเรียกว่า “หูตึง” และหากยังละเลยให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังต่อไปก็จะทำให้ “หูหนวก” ไม่สามารถได้ยินและติดต่อพูดคุยเช่นปกติได้ ซึ่งมีผลให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความยากลำบากและต้องอับอายที่กลายเป็นคนพิการ สำหรับคนหูตึง หูหนวก ที่เกิดจากเสียงดัง ไม่รักษาให้หายได้ ไม่ว่าโดยวิธีการใดก็ตาม การทำงานในที่เสียงดังนอกจากจะทำให้หูตึง หูหนวกแล้ว ยังมีผลต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกายด้วย เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเสียงดังทำให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยมากขึ้น ความดันโลหิตสูง ต่อมไธรอยด์เป็นพิษ ขาดสมาธิในการทำงาน จนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ทำให้เกิดความเครียด ก่อให้เกิดโรคจิตประสาททำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและเกิดความผิดพลาดมากขึ้น

เสียงดังแค่ไหนจึงจะเกิดอันตราย 
ผลจากการศึกษาวิจัยได้มีการกำหนดมาตรฐานสากลขึ้น กำหนดให้ความดังของเสียงไม่เกิน 85 เดซิเบล (เอ) สำหรับผู้ปฏิบัตงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 90 เดซิเบล (เอ) เมื่อทำงาน 4 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมาตรฐานของไทย ซึ่งกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม กำหนดให้ระดับความดังของเสียงที่ลูกจ้างได้รับติดต่อกัน ไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ) หากทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 80 เดซิเบล (เอ) หากทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง ผู้ที่ทำงานมีเสียงดังตามที่กำหนดในมาตรฐานดังกล่าวข้างต้น จะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินน้อยลงอีก หากสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงไว้ด้วย

ป้องกันอันตรายจากเสียงได้อย่างไร

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการสูญเสียการได้ยินซึ่งเนื่องมาจากเสียงดังนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม ดังนั้นเพื่ออนุรักษ์สมรรถภาพการได้ยินของหู จำเป็นจะต้องป้องกันทุกครั้งที่สัมผัสเสียง และการป้องกันที่ได้ผล ต้องเกิดจากความร่วมมือที่ดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยงข้อง คือฝ่ายนายจ้างควรคำนึงถึงโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารที่สามารถลดเสียงได้การติดตั้งเครื่องจักรบำรุงรักษาเครื่องจักรเพื่อให้เกิดเสียงน้อยที่สุด การจัดหาและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง เช่น ที่อุดหู ที่ครอบหู อย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ การให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของเสียงแก่ลูกจ้างเพื่อสร้างทัศนคติและจิตสำนึกในการป้องกันอันตรายที่เกิดจากเสียงและเพื่อการประเมินผลและวางแผนป้องกันควรตรวจสอบสมรรถภาพการได้ยินของลูกจ้างเป็นประจำทุกปี และก่อนเข้าทำงานส่วนฝ่ายลูกจ้างควรให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามคำแนะนำและกฎระเบียบของนายจ้างเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากเสียงอย่างเคร่งครัด

1.ปลั๊กอุดหู (Ear Plugs) จะสามารถลดเสียงที่มีความถี่สูงที่จะเข้าถึงหูได้ถึง 25-30 เดซิเบล จึงสามารถใช้ป้องกันได้เพียงพอในที่ซึ่งมีระดับความดังของเสียงไม่เกิน 115-120 เดซิเบล
2.ครอบหู (Ear Muff) จะสามารถป้องกันเสียงได้สูงกว่าปลั๊กอุดหูประมาณ 10-15 เดซิเบล ซึ่งสามารถลดเสียงได้ 35-40 เดซิเบล ดังนั้น จึงใช้ป้องกันได้ในที่ซึ่งมีระดับความดังของเสียงถึง 130-135 เดซิเบล

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://www.chanahospital.go.th/content/อันตรายจากเสียง