3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันการได้ยินโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยิน และป้องกันการสูญเสียการได้ยิน หรือหูเสื่อม
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ในประเทศไทยมีผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินมากกว่า 2.7 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น
“ปัญหาการสูญเสียการได้ยิน นอกจากจะมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุกระทบกระแทกทางศีรษะ ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุแล้ว การทำงานหรือไปเที่ยวในสถานที่ที่เสียงดัง รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใส่หูฟังเป็นเวลานาน การคุยโทรศัพท์เสียงดังเกินไป รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานในที่มี เสียงดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะความบกพร่องทางการได้ยินมากขึ้น” นพ.เจษฎาบอก
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยิน จะมีอาการเบื้องต้น คือ ได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู เช่น ได้ยินเสียงซ่าๆเหมือนเสียงสัญญาณทีวี เสียงเหมือนน้ำไหล เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด หรือรู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
“สาเหตุในบางครั้งก็เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เช่น มีขี้หูอุดตัน แก้วหูทะลุ แต่ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือ ภาวะประสาทหูเสื่อม ที่แพทย์จะทำได้เพียงป้องกันไม่ให้เสื่อมมากขึ้น หรือชะลอการเสื่อม”
คุณหมอเจษฎา บอกด้วยว่า หากพบประสาทหูเสื่อมมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีผลต่อการเรียนหรือการทำงาน การแก้ไขมี 2 วิธี คือ 1.ใช้เครื่องช่วยฟัง และ 2.การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ใช้ เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผล แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหูเสื่อมน่าจะสำคัญที่สุด โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน หากเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันโดยการใส่เครื่องป้องกันเสียง พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดอาการประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลัน
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี บอกว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคสูญเสียการได้ยิน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี มากกว่า 3,000 คน โดย รพ.ราชวิถี ถือเป็นโรงพยาบาลที่ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้กับผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย
ในการรณรงค์เนื่องใน “วันการได้ยินโลก” หรือ World Hearing Day นพ.ดาวิน
เยาวพลกุล และ นพ.สุประพล จันทพันธ์ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี ได้แนะนำ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ที่มีอาการหูหนวกในขั้นต้นว่า มักเริ่มจากการได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ชัด เปิดทีวีเสียงดังกว่าปกติ เพราะไม่ได้ยิน เสียงทีวี หรือมีอาการที่บ่งชี้ว่าประสาทหูเสื่อม เช่น ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องจี๊ดๆอยู่ในหู ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทดสอบว่ามีอาการประสาทหูเสื่อมหรือไม่
คุณหมอดาวิน บอกว่า คนที่ได้รับเสียงดังมากเกินไป แก้วหูชั้นในอาจจะเสียได้ ถึงแม้จะเป็นการได้ยินเสียงดังในระยะเวลาสั้นๆ เช่น เสียงประทัด เสียงปืน ที่บางครั้งได้ยินแค่ครั้งเดียวก็อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้
“ที่พบมากขึ้น คือ กลุ่มวัยรุ่นที่ใส่หูฟังตลอดเวลา แม้จะไม่ใช่เสียงที่ดังมาก แต่ถ้าใส่เป็นระยะเวลานานๆ ก็มีโอกาสทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้เช่นกัน” คุณหมอดาวินบอก
ขณะที่ คุณหมอสุประพล บอกว่า ปัจจัยของการได้ยินเสียง ที่ทำให้เกิดอันตรายกับหู มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ ความดังและระยะเวลาที่หูสัมผัสกับเสียงนั้นๆ บางทีไม่ต้องดังมาก แต่อยู่กับเสียงนั้นนานๆก็อาจทำให้มีปัญหาได้
ในทางวิชาการเสียงที่มีความดังระดับ 85 เดซิเบล ไม่ควรรับเกิน 8 ชม. ซึ่งหากต้องไปอยู่ในที่เสียงดังแบบเลี่ยงไม่ได้ ควรหาทางป้องกันด้วยการใส่ที่ครอบหู หรือใส่เอียปลั๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงที่เข้าไปในหูดังมากเกินไป
นอกจากโรคหูเสื่อมจากการได้ยินแล้ว ยังมีโรคที่เป็นสาเหตุอันดับต้นๆของโรคหูอีกโรคหนึ่ง นั่นก็คือโรคหูติดเชื้อ
พญ.นภัสถ์ ธนะมัย กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี บอกว่า โรคหูติดเชื้อ เป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆของปัญหาหูที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด โรคหูติดเชื้อเป็นได้ทั้งหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน ที่รู้จักกันดี คือ โรคหูชั้นกลางติดเชื้อ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ หูน้ำหนวก ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเริ่มแรกคือ ปวดหูมาก บางคนมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาอาจจะมีน้ำหนองหรือน้ำขุ่นๆไหลออกจากหู ต่อมาอาการปวดจะลดลง ซึ่งแสดงว่าแก้วหูทะลุแล้ว
“แก้วหูของคนเรามีโอกาสปิดเองได้สนิท แต่ในบางคน เยื่อแก้วหูไม่ปิด ก็ทำให้มีน้ำไหลออกจากหูเป็นๆหายๆอีกได้ สาเหตุของหูน้ำหนวกเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในหูชั้นกลาง มักเกิดร่วมกับการเป็นหวัด และการที่ท่อปรับความดันที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงจมูกด้านหลังทำงานผิดปกติ ทำให้เวลาเราเป็นหวัด เชื้อโรคสามารถผ่านเข้าท่อปรับความดันไปที่หูชั้นกลางได้” คุณหมอนภัสถ์บอกและว่า ความรุนแรงของหูน้ำหนวกนั้น อาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรืออาจสูญเสียการได้ยิน และหากเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรังชนิดรุนแรง อาจมีการติดเชื้อเข้าไปสู่หูชั้นใน และเข้าสมองทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ปวดศีรษะรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด.
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.thairath.co.th/content/1229961 ด้วยค่ะ