ข่าวคราวของคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาร์ซีเอ มีหนุ่มสาวไปร่วมสนุกกันอย่างล้นหลาม แต่ต่อมากลับมีเสียงร้องเรียนจากผู้อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมใกล้สถานที่จัดงานว่าเสียงเพลงจากคอนเสิร์ตดังสนั่นจนกระจกหน้าต่างร้าว
แม้ทางกรมควบคุมมลพิษ จะวัดค่าระดับความดังของเสียงในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อชี้พื้นที่ที่เข้าข่ายมลภาวะทางเสียงเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลทำลายอวัยวะการได้ยิน และก่อให้เกิดความเจ็บปวดและภาวะป่วยไข้ทั้งร่างกายและจิตใจได้ แต่ในทางปฏิบัติ ความอ่อนไหวต่อเสียงดังของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน แตกต่างตามวัย และสภาพร่างกาย
เสียงที่ดังเกินไปทำร้ายร่างกายโดยตรงแน่นอน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ชี้ถึงภัยของเสียงที่ชัดเจน ได้แก่ ความเจ็บปวดและอวัยวะรับเสียงเกิดความเหนื่อยล้า การสูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับชั่วคราว จนถึงขั้นหูตึงและหูหนวก อารมณ์หงุดหงิดรำคาญ ผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออก เช่น คนที่ได้รับเสียงดังมากๆ จะกลายเป็นคนก้าวร้าว ต่อต้านสังคมและจิตใจหยาบกระด้าง การสื่อสารไม่ดีเนื่องมาจากการได้ยินไม่ดี หรือ เกิดภาวะนอนไม่หลับทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นเสียงดังยังมีผลกระทบถึงระดับฮอร์โมน ที่อาจทำให้ระบบการเผาผลาญอาหารและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องได้
มาตรฐานการใช้เสียงขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นกฎหมายบังคับใช้ในสหภาพยุโรป มีประเทศฝรั่งเศส เป็นแม่แบบ ใช้ noise map และติดตั้ง noise meter ตามสถานที่ต่างๆ ผู้ใช้เสียงเกินกำหนด จะถูกลงโทษ ส่วนวันหยุดและสุดสัปดาห์ห้ามใช้เครื่องตัดหญ้า ในแถบย่านที่อยู่อาศัย ห้ามใช้เครื่องยนต์ รถยนต์เก่าที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวน
– ห้องนอนที่เงียบสงบในเวลากลางคืน จะมีความเข้มเสียงเฉลี่ยที่ 20 เดซิเบล หากเกินถึง 30 เดซิเบล จะมีผลรบกวนการนอนหลับ
– การสนทนาของคนในระดับปกติ เท่ากับ 60 เดซิเบล และย่านที่อยู่อาศัย 50 เดซิเบล
– เสียงจากถนนปกติ 70 เดซิเบล แต่ในกรุงเทพฯ ถนนเกือบทุกสาย เสียงเกินและในย่านจอแจ อาจสูงถึง 85 เดซิเบล
– สวนสาธารณะ โดยเฉลี่ย ไม่ควรเกิน 50 เดซิเบล แต่สวนสาธารณะในประเทศไทย มีการใช้เสียงรบกวนที่มากถึง 75-82 เดซิเบล และมากกว่าเวลามีกิจกรรมเต้นแอโรบิก
แล้วเสียงดังอย่างไรที่เรียกว่าดังมาก และควรหลีกเลี่ยงอย่างไร
หูคนเราไม่ควรรับเสียงดังเกิน 85 เดซิเบล คือเสียงที่ดังจนพูดกันไม่รู้เรื่องในระยะห่าง 1 เมตร ในโรงงานที่เสียงดัง 85 เดซิเบล จึงไม่ควรทำงานเกิน 8 ชั่วโมง และควรหยุดพักอยู่ในที่เงียบทุก ๆ 5 วันทำงาน และควรใช้เครื่องป้องกันเสียง เสียงที่ดังเกิน 90 เดซิเบล ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง หรือไม่ควรสัมผัสเลย โดยเฉพาะเสียงระเบิด เสียงปืน เสียงในสถานบันเทิงเริงรมย์ เสียงเครื่องบินขณะเครื่องออก ดังได้ถึง 120 เดซิเบล หรือมากกว่านั้น คนเราไม่ควรสัมผัส เสียงดัง 120 เดซิเบล โดยเด็ดขาด
สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศ.พ.ญ.สุจิตรา ประสานสุข ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้วัยรุ่นไทยอยู่ในภาวะวิกฤติทางการได้ยิน โดยพบว่ามีวัยรุ่นจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากมีภาวะเสียงรบกวนในหู ที่จะนำมาสู่การเกิดภาวะหูตึง เพราะวัยรุ่นในปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบการได้ยินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การคุยโทรศัพท์เป็นเวลานาน การฟังเอ็มพี 3 ไอพอด และการเข้าผับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหูตึงก่อนวัย
หูหนวก หูตึง ป้องกันได้ งดฟังเสียงดังมาก และ นานเกินไป ช่วยกันลดเสียง หมั่นตรวจวัดการได้ยิน ก่อนจะสูญเสียมัน
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/52562 ด้วยค่ะ