รังสีที่แผ่ออกจากหลุมดำอาจให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้

เมื่อต้องการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว บริเวณที่ใกล้กับดาวฤกษ์ในระยะพอเหมาะหรือ Goldilocks zone ซึ่งมีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต จะเป็นสถานที่แรกในห้วงอวกาศที่นักวิทยาศาสตร์มองหา แต่ล่าสุดมีการค้นพบความเป็นไปได้ว่า บริเวณที่ใกล้กับหลุมดำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง ก็มีโอกาสจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน
ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดลงในวารสาร The Astrophysical Journal โดยระบุว่าดาวเคราะห์ที่มีสภาพเหมาะสมให้สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดและอาศัยอยู่ได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีดาวฤกษ์เป็นศูนย์กลางการโคจรอย่างเช่นโลกกับดวงอาทิตย์เสมอไป แต่หลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive blackhole) ซึ่งมักพบอยู่ที่ใจกลางดาราจักรต่าง ๆ ก็สามารถให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ หากดาวเคราะห์โคจรอยู่ห่างจากหลุมดำดังกล่าวในระยะที่พอเหมาะ

มีการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ซึ่งเลียนแบบการหมุนของจานสะสมกลุ่มก๊าซและฝุ่นที่วนรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดบริเวณใจกลางดาราจักรกัมมันต์ (Active Galactic Nuclei – AGN) แล้วตรวจวัดปริมาณของการแผ่รังสีและแสงสว่างที่ออกมาจากจานหมุนเหล่านี้
ดร. มนัสวี ลิงกัม หนึ่งในทีมผู้วิจัยของฮาร์วาร์ดบอกว่า “ในอดีตคนส่วนใหญ่จะมองว่าหลุมดำคือสัญลักษณ์ของการทำลายล้างเท่านั้น ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าการแผ่รังสีจาก AGN นั้นรุนแรง จนสามารถทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้จนหมดสิ้น ทำให้เชื่อกันว่าบริเวณโดยรอบหลุมดำนั้นเป็นเขตมรณะ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดจะถือกำเนิดขึ้นได้”
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบพบว่าการแผ่รังสีจากหลุมดำมวลยิ่งยวดไม่ได้มีพลังรุนแรงในระดับที่เคยคาดกันไว้ เช่นหลุมดำมวลยิ่งยวดซาจิตทาเรียสเอสตาร์ (Sagittarius A*) ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้น เคยคาดกันว่าแผ่รังสีรุนแรงจนสามารถทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่ในรัศมี 3,200 ปีแสงได้ทั้งหมด แต่ผลการทดสอบล่าสุดชี้ว่า ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในระยะเพียงไม่เกิน 100 ปีแสงเท่านั้น
ทีมผู้วิจัยชี้ว่า หากดาวเคราะห์อยู่ในระยะห่างที่พอเหมาะจากหลุมดำ รังสีที่แผ่ออกมาจะไม่ทำลายชั้นบรรยากาศของดาว ทั้งยังจะช่วยให้โมเลกุลต่าง ๆ แตกตัวกลายเป็นสารประกอบที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ แสงสว่างจากจานหมุนรอบหลุมดำยังอาจช่วยให้เกิดการสังเคราะห์ด้วยแสงขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เขตที่มีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือ Goldilocks zone คือบริเวณที่ดาวเคราะห์โคจรห่างจากดาวฤกษ์ในระยะพอเหมาะ จนมีอุณหภูมิในระดับที่ทำให้น้ำคงสภาพเป็นของเหลวได้บนพื้นผิวดาว


ขอขอบคุณสาระดีๆจาก https://www.bbc.com/thai/features-48742855 ด้วยค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *