ระฆังวัดไทร – คอนโด : มลพิษทางเสียงในเมืองแบบไหนที่น่ากังวล ?

ระฆังวัดไทร – คอนโด : มลพิษทางเสียงในเมืองแบบไหนที่น่ากังวล ? – BBCไทย
กรณีมีผู้อยู่อาศัยในคอนโดสูงแห่งหนึ่งในย่านบางคอแหลม ร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตกรณีที่วัดไทร ที่อยู่ติดกับคอนโดมิเนียมใกล้กันตีระฆังเสียงดังรบกวน ในช่วงเวลาเช้ามืดของทุกวัน ก่อนที่สำนักงานเขตจะส่งหนังสือขอความร่วมมือไปทางวัดให้ลดเสียงตีระฆัง จนกลายเป็นกระแสถกเถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ว่า วัดจำเป็นจะต้องยุติการตีระฆังเพื่อปลุกพระมาปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งที่วัดสร้างมาหลายร้อยปีหรือไม่
นอกจากข้อถกเถียงทางสิทธิ์และกฎหมายในประเด็น “สิทธิ์ของผู้อยู่มาก่อน” แล้ว บีบีซีไทยชวนสำรวจเรื่องของ “เสียง” ในอีกมุมหนึ่ง อันได้แก่ มลพิษทางเสียงในกรุงเทพฯ ว่าน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน
จะแก้ปัญหาความแออัดในพื้นที่เมืองใหญ่ได้อย่างไร ?
พบเมืองใหญ่ขยายตัวกระทบต่อวิวัฒนาการพืชและสัตว์นับพันชนิด
“เสียงการจราจรบนถนน” 80% ของมลพิษทางเสียงในกรุงเทพฯ
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) และผู้จัดการโครงการแผนที่เสียง (Noise Map) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เรื่องมลพิษทางเสียงยังคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรทั้งในต่างประเทศและไทย ที่จริงแล้วเสียงในเมืองเป็นประเด็นสาธารณะที่คนทั่วไปน่าจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่วนร่วมในการตัดสินใจรวมทั้งร้องเรียนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นด้วย เมืองที่มีเสียงดังมากก็จะส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนที่อยู่อาศัย
ในงานวิจัยของไทยที่ผ่านมาสรุปว่า มลพิษทางเสียงร้อยละ 80 ของกรุงเทพนั้นเป็นเสียงการจราจรในท้องถนนอย่าง เช่น เสียงแตร เสียงเครื่องยนต์รถ ฯลฯ
กฎหมายของไทยก็ได้กำหนดค่ามาตรฐานของเสียงต่าง ๆ ไว้ว่า ค่ามาตรฐานของเสียงที่บุคคลหนึ่งจะได้รับที่ไม่กระทบกับสุขภาพตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ 80 เดซิเบลเอ ต่อการได้ยินตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนเสียงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว อย่างเช่น เสียงขุดเจาะถนน ฯลฯ จะเรียกว่าเสียงรบกวน
ในกรณีของเสียงระฆังของวัดที่กำลังได้รับการพูดถึงอยู่ในขณะนี้ อดิศักดิ์ระบุว่าเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ได้ดังตลอดเวลา ซึ่งหากจะพิจารณาในกรณีเรื่องมลพิษทางเสียงก็อาจจะเข้าข่ายเสียงรบกวน

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยว่า เสียงระฆังนั้นเป็นเสียงรบกวนและสร้างปัญหาจริงหรือไม่ เช่น จากช่วงเวลาที่ดัง ระดับของเสียง ระยะทางจากแหล่งกำเนิดเสียงถึงคนได้ยิน ไปจนถึงเรื่องของประเพณีวัฒนธรม และการอยู่มาก่อนของวัดและชุมชนรอบข้าง
“แต่ในความเห็นของผม การร้องเรียนเรื่องว่าวัดตีระฆังและก่อเสียงรำคาญ อาจจะเป็นเรื่องแปลกสักหน่อย เพราะวัดและชุมชนอยู่มานานแล้ว คอนโดเพิ่งมาสร้างอาจจะแค่ 10 ปี เมื่อเลือกมาอยู่คอนโดนี้ก็อาจจะต้องเข้าใจและยอมรับสิ่งแวดล้อมประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ อย่างไรก็ตามการหารือไกล่เกลี่ยกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” อดิศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทย
มาตรฐานระดับเสียงทั่วไปควรดังแค่ไหน ?
ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) กำหนดให้ค่าระดับเสียงทั่วไป เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ และค่าระดับเสียงสูงสุด ไม่เกิน 115 เดซิเบลเอ
เสียงระดับนี้มีความดังเท่าใด กรมควบคุมมลพิษ ยกตัวอย่างระดับเสียงในชีวิตประจำวันอย่างเช่น เสียงดังจากสวนสาธารณะ มีระดับ 45 เดซิเบลเอ และเสียงดังในที่ทำงาน มีระดับเสียง 65 เดซิเบลเอ
ส่วนค่ามาตรฐานเสียงรบกวน กฎหมายกำหนดไว้ที่ 10 เดซิเบลเอ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2550)
อย่างไรก็ตาม มลพิษเสียงในเมืองก็เป็นเรื่องที่แวดวงของผู้ออกแบบและพัฒนาเมืองให้ความสนใจ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อดิศักดิ์ เปิดเผยกับบีบีซีไทยอีกว่า โครงการแผนที่เสียง (Noise Map) เกิดขึ้นเพราะมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯ ตระหนักรู้ถึงภัยจากมลพิษทางเสียงในเมืองใหญ่ โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเริ่มเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเสียงจากสองเขต คือ บางรัก และปทุมวัน และจะเริ่มขยายโครงการออกไปให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและร้องเรียนได้ในช่วงต่อไป
เมืองไหนในโลกที่มี “มลพิษทางเสียง” เลวร้ายที่สุด
เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum) ได้เผยแพร่บทความอันดับเสียงที่เลวร้ายที่สุดในโลก เมืองที่มีสถานการณ์ทางเสียงแย่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองกว่างโจว ของประเทศจีน ขณะที่เมืองที่มีปัญหามลพิษทางเสียงต่ำที่สุด คือ เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมืองที่มีมลพิษทางเสียงเป็นอันดับต่อมาได้แก่ เดลีของอินเดีย ไคโร มุมไบ อิสตันบลู และปักกิ่ง ตามลำดับ
ดัชนีชี้วัดการได้ยินเสียง ได้เกิดจากการเก็บข้อมูลด้วย digital hearing app หรือ แอพพลิเคชั่นที่สร้างโดย Mimi Hearing Technologies GmbH. วิเคราะห์จากการทดลองเก็บข้อมูลการรับรู้ทางเสียงจากผู้ใช้งานแอปฯ กว่า 200,000 คน ผนวกรวมข้อมูลมลพิษทางเสียงจากองค์การอนามัยโลก และองค์กรวิจัยอิสระของนอร์เวย์ ก่อนนำมากำหนดจุดมลพิษทางเสียงจาก 50 เมืองทั่วโลก

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_1644415ด้วยค่ะ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *