มลพิษทางเสียงและเดซิเบล

มลพิษทางเสียงเป็นมลพิษที่แตกต่างจากมลพิษอื่นๆ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจะแพร่กระจายอยู่ในวงจำกัด เพราะเสียงเป็นการเคลื่อนที่ของพลังงานผ่านตัวกลางใดๆ โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางอวัยวะรับความรู้สึก เช่น หูและร่างกาย หากได้รับเสียงดังมากเกินขีดจำกัดของร่างกาย และอยู่ในรูปแบบหรือเวลาที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น การทำลายอวัยวะรับการได้ยิน การทำให้เกิดความรำคาญ โรคเครียด หรืออาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ได้
เสียงที่ดังเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นเพื่อควบคุมให้มีการใช้เสียงอย่างพอเหมาะ จึงมีการกำหนดมาตรฐานของเสียงขึ้นมาเพื่อตรวจสอบระดับของเสียง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดี ควรเป็นเสียงที่ดังไม่เกิน 55 เดซิเบลเอ ระดับปานกลาง ควรเป็นเสียงที่ดังระหว่าง 55 – 70 เดซิเบลเอ และระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ เสียงที่มีความดังเกิน 70 เดซิเบลเอ
ทั้งนี้ในกิจวัตรประจำวันของคนเรามีความเกี่ยวข้องกับเสียงในระดับที่แตกต่างกันออกไป ผู้เชียวชาญด้านเสียงได้จัดลำดับแหล่งกำเนิดเสียง ระดับเสียง และผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ โดยจำแนกตามกิจกรรมที่ทำไว้ว่า ในขณะที่เราอยู่กับป่าตามธรรมชาติจะมีเสียงดังประมาณ 0-20 เดซิเบลเอ ในห้องสมุดจะมีเสียงดังประมาณ 40 เดซิเบลเอ ที่ทำงานมีเสียงดังไม่เกิน 70 เดซิเบลเอ บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัดจะมีเสียงดังประมาณ 80 เดซิเบลเอ ผู้ที่ทำงานขุดเจาะถนน จะต้องทนกับเสียงที่ดังถึง 100 เดซิเบลเอ และเสียงจากเครื่องบินไอพ่น มีเสียงดังรบกวนถึง 140 เดซิเบลเอ
** เสียงดัง ถือเป็นอันตรายใกล้ตัวที่หลายๆ คนมักจะมองข้ามไป โดยเฉพาะคนที่ทำงานโรงงาน หรือทำงานอุตสาหกรรมที่ต้องได้ยินเสียงเครื่องจักรอยู่ตลอดเวลา มักจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มลพิษทางเสียงนับเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก **
อยากให้ทุกคนได้ใส่ใจเรื่องอันตรายจากเสียงดังให้มากๆ ด้วยความห่วงใยจากบริษัท จีโอนอยซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด.
————————————————————————————
————————————————————————————
ขอบคุณสำหรับข้อมูลจาก : https://www.hiso.or.th/hiso/tonkit/tonkits_44.php ด้วยค่ะ 😊😊