การสูบบุหรี่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคถุงลมโป่งพอง แต่เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิจัยรายงานว่ามีอีกสาเหตุที่น่าตื่นตระหนก นั่นคือคุณภาพอากาศที่ไม่ดีหรือมลพิษทางอากาศ หากเข้าสู่ร่างกายในระยะยาวจะสามารถทำให้เป็นโรคปอดชนิดรุนแรงได้มากเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 29 ปี
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า จากการสำรวจสุขภาพปอดในผู้ใหญ่ 7,071 คน ที่มีอายุระหว่าง 45-84 ปี ที่อาศัยอยู่ใน 6 เมืองของสหรัฐอเมริกา ด้วยวิธีวัดระดับอนุภาคฝุ่น ไนโตรเจนออกไซด์ เขม่าคาร์บอน และก๊าซโอโซน ภายนอกที่อยู่อาศัยของผู้เข้าร่วมทดสอบ และทำการตรวจร่างกายด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน เพื่อติดตามการพัฒนาอาการผิดปกติอย่างเรื้อรังของปอดและความเสื่อมของปอด โดยเฉพาะการเป็นโรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง อย่างโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก การติดตามผู้เข้าร่วมทดสอบเป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่า การที่คนเหล่านี้ได้รับมลพิษในระยะยาว มีความเชื่อมโยงกับอาการถุงลมโป่งพองในเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โอโซนที่ระดับพื้นดินจะเกิดขึ้นเมื่อแสงอัลตราไวโอเลต (UV) ทำปฏิกิริยากับมลพิษที่มาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล และกระบวนการนี้จะถูกเร่งโดยคลื่นความร้อน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเผยว่ายังไม่มีความชัดเจนว่ามลพิษทางอากาศในระดับใดจะปลอดภัยสำหรับมนุษย์.
ขอขอบคุณสาระดีๆจาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1643665 ด้วยค่ะ