มลพิษทางอากาศทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง-อาชญากรรมพุ่งสูง / ไม่มีหมวดหมู่ / By Webmaster ปัญหามลภาวะในอากาศ ไม่ว่าจะเกิดจากไอเสียของการจราจรหรือฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและพฤติกรรมของคนเราในทางที่ไม่ดีอีกด้วย โดยมีการค้นพบความเกี่ยวพันเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับอัตราการก่ออาชญากรรมรุนแรงที่เพิ่มขึ้นทุกขณะทีมนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักสถิติ และนักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตตของสหรัฐฯ ตีพิมพ์ผลการวิจัยล่าสุดในวารสาร “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ” (Journal of Environmental Economics and Management) โดยระบุว่าระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส (aggravated assault)ข้อสรุปดังกล่าวมาจากการที่ทีมผู้วิจัยได้วิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลหลายชุดที่เกี่ยวข้อง เช่นรายงานเหตุอาชญากรรมประจำวันของเอฟบีไอ, ระดับมลพิษทางอากาศรายวันจากแต่ละเมืองในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2006-2013 ซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (USEPA) และฐานข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าขององค์การบริหารกิจการมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้คัดกรองตัวแปรอื่น ๆ ในข้อมูลที่อาจเป็นสาเหตุของอาชญากรรมได้เหมือนกัน เช่น สภาพอากาศ คลื่นความร้อน ความชื้น และสภาพสังคมในแต่ละท้องถิ่น ให้ออกไปจากการพิจารณาก่อนแล้วผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า ในวันที่ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในอากาศ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหตุอาชญากรรมรุนแรงที่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส จะมีเพิ่มขึ้นราว 1.4% ในท้องที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศดังกล่าวส่วนในวันที่พบว่ามีก๊าซพิษโอโซนเพิ่มขึ้น 0.01 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เหตุอาชญากรรมรุนแรงแบบเดียวกันจะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยที่ 0.97% และยังพบว่าเหตุทำร้ายข่มขู่ทั่วไปที่ไม่เข้าขั้นรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 1.15%นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในทีมวิจัยเดียวกันยังชี้ว่า การลดระดับฝุ่นมลพิษ PM2.5 ลงได้ราววันละ 10% จะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องเสียไปกับการจัดการคดีอาชญากรรมได้ถึงปีละ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33 ล้านบาท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จูด เบย์แฮม หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า “เมื่อร่างกายได้รับมลพิษสูงขึ้นในระยะสั้น มันอาจทำให้คุณรู้สึกสับสน และผลักดันให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยได้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราการก่ออาชญากรรมไปด้วย”อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยระบุว่าผลการศึกษาข้างต้นเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสถิติ ซึ่งพวกเขายังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มลภาวะทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นมีกลไกทางกายภาพและจิตวิทยาที่ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.bbc.com/thai/international-49950041 ด้วยค่ะ