สถิติการร้องเรียนของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า “เสียง” เป็นมลพิษที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับ 3 ซึ่งมีทั้งหมด 202 เรื่องในปีที่แล้ว โดยเสียงที่เป็นปัญหามากที่สุด มาจากสถานบันเทิง ร้านอาหาร ร้านรับซื้อของเก่า รองลงมาคือเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม เสียงจากอาคารที่พักอาศัย เสียงจากการก่อสร้าง รวมไปถึงเสียงจากการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
มลพิษทางเสียง หมายถึงเสียงที่เราไม่พึงประสงค์จะได้ยิน สร้างความรำคาญ ไปจนถึงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับเสียงที่ดังไม่เกิน 30 เดซิเบล ไม่ถือเป็นมลพิษทางเสียงและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เมื่อเสียงเริ่มดังตั้งแต่ 30 ถึง 60 เดซิเบล จะเริ่มสร้างความรำคาญ และเสียงที่ดัง 60 ถึง 90 เดซิเบล ถือว่าอันตราย กระทบสุขภาพทำให้นอนไม่หลับ เกิดความตึงเครียด มีผลทำให้ความดันเลือดสูง ส่วนเสียงที่ดังมากๆ เกิน 90 เดซิเบลขึ้นไป แพทย์ ย้ำ อันตรายต่อการได้ยิน อาจทำให้หูตึงชั่วคราว หรือหูตึงถาวรได้
แนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงที่ผ่านมา หากเป็นเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีระดับความดังเกิน 80 – 90 เดซิเบล จะมีกฎหมายควบคุมเอาผิดอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่รับแจ้ง
ส่วนเสียงรบกวนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในชุมชน ร้านค้า บ้านใกล้เรือนเคียง เจ้าหน้าที่จะเน้นลงพื้นที่ทำความเข้าใจตกลงร่วมกัน ปรับพฤติกรรมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ ก่อนใช้มาตรการตามกฎหมาย
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าแหล่งกำเนิดเสียงในเมืองที่เป็นปัญหามากที่สุด คือจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เรือ โดยเฉพาะท่อไอเสียที่มีการดัดแปลง
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://news.ch7.com/detail/307952 ด้วยค่ะ